เวลาที่คนไข้มาปรึกษา หลายคนโดยเฉพาะคนไข้ผู้หญิงมักจะมีความกังวลมาก ว่าระหว่างที่ทำรากเทียมนั้นต้องใส่ฟันปลอมไหม หรือจะต้องฟันหลอยิ้มไม่ได้ไปหลายเดือน วันนี้จะมาไขข้อข้องใจกันค่ะ
การใส่รากฟันเทียมถ้าเราแบ่งตามระยะเวลาสามารถแบ่งได้เป็น
1.ถ้าคนไข้ยังมีฟันเดิมที่ยังไม่ถอนอยู่ ต้องดูสภาวะของกระดูกและการติดเชื้อบริเวณนั้นๆ ถ้ากระดูกโดยรวมดี การติดเชื้อสามารถควบคุมได้ ก็สามารถใส่รากเทียมทันทีหลังถอนฟันได้เลย (Immediate implant placement)
โดยจะฝังรากเทียมบริเวณกระดูกค่อนไปทางเพดาน และทำการปลูกกระดูกเพิ่มเติมบริเวณช่องที่เหลือ(รากเทียมที่ใส่จะมีขนาดเล็กกว่าช่องที่ถอน และแน่นอนเราต้องการให้มีกระดูกด้านหน้าเพื่อคงความสวยงามเอาไว้ ……ไม่ให้ยุบ)
ถ้าใส่แล้วรากมีความแข็งแรงมาก อาจจะทำการต่อครอบฟันชั่วคราวได้ทันที( Immediate restoration) แต่ถ้าดูแล้วรากเทียมยังไม่แข็งแรงเท่าที่ควร อาจจะเนื่องจากคุณภาพกระดูก คุณหมอก็จะทำการซ่อนรากเทียมไว้ใต้เหงือกและทำฟันชั่วคราว
ฟันชั่วคราวทำได้แบบไหน
– ติดแน่น : หลายๆครั้งจะทำการModify ฟันเดิมที่ถอนไป หรืออาจจะใช้ฟันปลอมอะคริลิก แล้วนำมาเชื่อมกับฟันข้างเคียง หรือ ถ้าแข็งแรงจะต่อกับรากเทียมโดยตรง – ถอดได้ : ฟันปลอมถอดได้ หรือ ใช้ รีเทนเนอร์ใส แล้วเติมซี่ฟันด้วยอะคริลิกหรือวัสดุอุดฟัน
2.ถ้าถอนไปแล้ว ต้องดูที่กระดูก และเหงือกที่เหลืออยู่ โดยทั่วไปฟันหน้า กระดูกมักจะบางโดยธรรมชาติ หลังจากถอนฟันไปไม่นาน กระดูกบริเวณที่ถอนมักจะบาง และไม่พอที่จะฝังรากเทียม หรือถ้าใส่รากเทียม ความหนาของกระดูกก็อาจจะยังไม่พอที่จะทำให้รากมีความแข็งแรงและความสวยงามในระยะยาวได้
ในกรณีเช่นนี้ มักจะทำการปลูกกระดูกและหรือ การปลูกเหงือกร่วมด้วย เพื่อให้เกิดความสวยงามและกลมกลืนเป็นธรรมชาติ
ถามต่อ …..
แล้วต้องรอนานแค่ไหน ปลูกกระดูกทุกกรณีไหม
ถ้ากระดูกไม่พอที่จะยึดรากเทียมได้เลย ต้องทำการปลูกกระดูกก่อน แล้วรอสามถึงหกเดือน จึงมาฝังรากเทียมถ้ากระดูกพอที่จะยึดรากเทียมได้แต่ไม่เพียงพอที่จะครอบคลุมรากเทียม จนทำให้เกิดความสวยงาม หรือความแข็งแรงในระยะยาว ได้ก็สามารถใส่รากเทียม พร้อมกับปลูกกระดูก/เหงือกในครั้งเดียว เพื่อลดจำนวนครั้งและเวลาในการผ่าตัด
ขั้นตอนของฟันหน้ากับฟันหลังมีอะไรที่แตกต่างกันบ้างไหม
ฟันหน้ากระดูกและเหงือกมักจะบางกว่าโดยธรรมชาติ ทำให้หลายๆครั้งต้องมีการปลูกกระดูกและหรือปลูกเหงือกร่วมด้วยฟันหน้าเป็นบริเวณที่เน้นความสวยงาม สิ่งที่ยากคือ ทำอย่างไรให้กลมกลืนไปกับบริเวณข้างเคียง ขอบเหงือกจะต้องใกล้เคียง ความอูม ของเหงือก ตลอดจนระวังไม่ให้มีรอยแผลเป็นที่เห็นได้ชัด หลายๆครั้งจะต้องมีการใส่ครอบชั่วคราวเพื่อปรับเหงือกบริเวณนั้น ให้มีรูปร่างเหมาะสมที่จะรับครอบฟัน ก่อนที่จะพิมพ์ปาก(Gingival molding)